ปิดฉาก Bose เหตุพ่าย Digital Disruption

สำหรับแฟนๆเครื่องเสียง Bose หลายคนน่าจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ไม่คิดว่าแค่ข้ามปี หลังฉลองปีใหม่หมาด ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั่วโลกขนาดนี้ โดยบริษัทแม่ที่อเมริกาประกาศจะปิดร้านค่าปลีกในอเมริกาทั้งหมด 119 ร้านอันเป็นร้านของ Bose โดยตรง หรือ Bose Flagship Store

ความจริง Bose เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ Dr.  Amar G. Bose เสียชีวิต เนื่องด้วยนโยบายหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นด้านการตลาดมากขึ้น สำหรับ Amar Bose ผู้ก่อตั้งซึ่งมีเชื้อสายอินเดียนั้น จะมากจะน้อยก็ยังมีนิสัยชาวเอเชียที่คำนึงถึง “สายสัมพันธ์” หรือ “connection” เป็นสำคัญ ดังที่เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ผู้บริหารของ Bose ว่า “ถ้ามีบริษัทใดติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยให้คำมั่นว่าจะสร้างยอดขายได้เท่านั้นเท่านี้ (แน่นอนว่าต้องมากกว่ายอดที่ตัวแทนปัจจุบันทำอยู่) จะเปลี่ยนตัวแทนหรือไม่” ผู้บริหารท่านนั้นตอบได้น่าสนใจมากว่า “ตัวแทนปัจจุบันของเราก็ทำดีอยู่แล้ว และเขาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรามาหลายทศวรรษ เราเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ไม่มีเหตุผลที่เราจะเปลี่ยนตัวแทน และเราก็มีตัวแทนลักษณะนี้ที่ค้าขายกันมาหลายสิบปีในหลาย ๆ ประเทศ…”

Amar Bose
Dr. Amar Bose ผู้ก่อตั้ง (ภาพจาก MIT)

แต่สิ่งที่ผู้บริหารชุดใหม่มองคือ ปัจจุบันนี้โลกมันเปลี่ยน ผู้บริโภคหันไปซื้อออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้น ร้านค้าปลีกที่มีอยู่จึงหมดความจำเป็น เดิมทีทาง Bose สร้างร้านค้าปลีกโดยเริ่มต้นเมื่อปี 1993 เปิดสาขาแรกในอเมริกา เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ ชมการสาธิตเครื่องเสียง โฮมเธียเตอร์ รับคำแนะนำเป็นการส่วนตัว แต่ปัจจุบัน ด้วยการเติบโตของสมาร์ทโฟน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงเน้นไปทางไลฟ์สไตล์ประเภทลำโพงบลูทูธ หูฟังแบบต่าง ๆ ซึ่ง Bose ทำได้ค่อนข้างดี จนเกิดคู่แข่งที่มีข้อพิพาทถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลอย่างกรณีของ Beat และยังเคยทำการพัฒนาภัณฑ์ร่วมกับ Apple ในฐานะพันธมิตรธุรกิจ แต่ตอนหลัง Apple ซื้อกิจการของ Beat ไป ทำให้จากพันธมิตรกลายเป็นคู่แข่ง

Bose SoundLink
Bose SoundLink Bluetooth Speaker

ด้านผู้บริโภคเองก็หันไปซื้อหาทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ทาง Bose จึงเห็นว่า ร้านค้าปลีกจึงหมดความจำเป็น จึงประกาศว่าจะปิดตัวร้านค้าปลีกในอเมริกาทั้งหมด 119 ร้าน รวมทั้งจะปิดร้านค้าปลีกในอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่นด้วย ส่วนอีกประมาณ 130 ร้านที่กระจายอยู่ในประเทศจีน UAE อินเดีย เกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ยังคงไม่ได้ขีดเส้นชัดเจน

เมื่อกระแสดิจิตอลมากระหน่ำ ทุกอย่างจึงต้องปรับตัว การอยู่เฉยย่อมหมายถึงการถูกกลืนหายไปกับกระแสอย่างแน่นอน ส่วนการปรับตัวนั้น ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้กุมบังเหียนว่าจะมองเห็นทิศทางในอนาคตเป็นเช่นไร โอกาสความอยู่รอดหรือถูกกลืนนั้น 50/50 ถ้าวิสัยทัศน์ถูกต้อง สามารถนำพาองค์กรพ้นเส้น 50 ขึ้นมาย่อมมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า และถ้ายิ่งสามารถขยับสูงขึ้นไปอีกนั่นคือการเติบโต

สำหรับนโยบายของ Bose ต่อภูมิภาคเอเชียนั้น คงต้องรอดูต่อไปว่าจะเดินหมากอย่างไร แต่คิดว่าคงไม่นานเกินรอ

*ภาพจากอินเทอร์เน็ต