MQA จะพัฒนาไปทิศทางใด

ปี 2019 ที่เพิ่งผ่านไปถือเป็นปีเริ่มต้นของ MQA อย่างแท้จริง แม้ว่า MQA จะออกมาตั้งแต่ปี 2014 แล้วก็ตาม แต่มันยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทต่อเหล่าออดิโอไฟล์และผู้ที่รักเสียงเพลงอย่างแท้จริงก็เมื่อปี 2019 นี้เอง โดย MQA ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเพลงออนไลน์หลาย ๆ รายเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงตามที่สตูดิโอบันทึกไว้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องเสียงและอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างก็เพิ่มเติมภาคถอดรหัส MQA เข้าไปไว้ในเครื่องเสียงรุ่นใหม่ของตัวเอง และยังผลิตเครื่องถอดรหัสเฉพาะ เป็นต้น ในขณะที่ด้านซอฟต์แวร์เอง ก็มีหลายรายเริ่มวางแผ่นซีดีที่เป็น MQA-CD

Tidal - Susan Wong

ประเด็นที่ต้องขอย้ำคือ การถือกำเนิดของ MQA เมื่อ 5 ปีก่อนเป็นการออกมาเพื่อแก้ปัญหาในช่วงนั้นที่การบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ยังมีแบนด์วิธที่ค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถสตรีมไฟล์เพลงแบบไฮเรสได้อย่างราบรื่น คุณภาพเสียงที่ได้จริง ๆ ก็แค่ระดับ CD เท่านั้น โดย MQA สามารถช่วยให้ไฟล์เพลงความละเอียดสูง ๆ เช่น 32bit/384kHz. บีบอัดขนาดไฟล์ลงมาเหลือแค่ 1 ใน 8 ของขนาดเดิมทำให้ไฟล์เพลงไฮเรสสามารถสตรีมได้อย่างราบรื่นและคงไว้ในคุณภาพใกล้เคียงกับเสียงเดิม

ขณะที่ 5G เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในหลาย ๆ ประเทศในปี 2019 เช่นกั จากข้อมูลการทดสอบของห้องปฏิบัติการนั้น การดาวน์โหลดไฟล์ขนาด 1 GB. จะใช้เวลาแค่ 4 วินาที นั่นหมายความว่า ไฟล์เพลงไฮเรส 24bit/384kHz. โดยปรกติจะมีขนาดไม่ถึง 1 GB. ก็จะใช้เวลาดาวน์โหลดเพียง 2-3 วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ เรายังจำเป็นต้องใช้ไฟล์แบบบีบอัดอีกไหม หรือว่าจะดาวน์โหลดไฟล์ไฮเรสโดยตรงเลย นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่อยู่ในวงการเพลงกล่าวว่า อนาคต MQA จะกลายเป็นฟอร์แมตมาตรฐานของไฟล์เพลงฟอร์แมตต่าง ๆ เช่น FLAC, ALAC, APE และยังมีคนกล่าวถึงขั้นจะมาทดแทนไฟล์ DSD ด้วยซ้ำไป สรุปแล้ว MQA จะพัฒนาสู่ทิศทางไหนกันแน่

We meet again, Teresa Teng
เฉินเจีย – We meet again, Teresa Teng (陈佳-又见邓丽君)

ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ถ้าหากความเร็วในการดาวน์โหลดของ 5G เป็นไปตามช้อมูลดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจะใช้ไฟล์ไฮเรสโดยไม่ผ่านการบีบอัดดีกว่า แม้ว่าไฟล์บีบอัดที่ผ่านการถอดรหัส MQA จะคืนสภาพเหมือนกับไฟล์เพลงไฮเรสก็ตาม แต่ความหนาแน่นของข้อมูล และไดนามิกยังห่างไกลจากไฟล์ไฮเรสต้นฉบับโดยตรง โดยเฉพาะในย่านความถี่ 20kHz ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อถึงยุคที่เปิดใช้ 5G อย่างแพร่หลายแล้ว คุณยังคิดจะใช้ MQA อีกหรือไม่

ส่วนคำถามที่ว่า MQA-CD จะกลายเป็นกระแสหลักสำหรับแผ่นซีดีคุณภาพสูงหรือไม่นั้น ประเด็นนี้น่าสนใจ ถ้าหากเราย้อมหลังกลับไปจะเห็นว่าเราพยายามพัฒนาแผ่นที่ให้คุณภาพเสียงดีกว่าซีดีธรรมดา เราจึงเห็นตั้งแต่ HDCD จนถึง SACD และเรายังมีแผ่น DVD-Audio และ Blu-ray Pure Audio มาคั่นรายการในบางจังหวะ แต่ในบรรดาฟอร์แมตทั้งหลายนอกจาก HDCD และ SACD แบบ double layer ที่สามารถเล่นกับเครื่องเล่นซีดีปกติได้แล้ว นอกนั้นล้วนตั้งใช้เครื่องเล่นเฉพาะ ฟอร์แมตเหล่านี้จึงไม่สามารถเข้ามาทดแทนซีดีได้จนทุกวันนี้

แผ่น Crystal Dic ในชุด DR Classics ในวาระฉลองครบรอบ 10 ปี ของ ต๋าเหริน (Da Ren)
แผ่น Crystal Dic ในชุด DR Classics ในวาระฉลองครบรอบ 10 ปี ของ ต๋าเหริน (Da Ren)

แต่ MQA-CD กลับสามารถเล่นกับเครื่องเล่นซีดี หรือ transporter ได้เลย เพียงแค่เพิ่มเครื่องถอดรหัส MQA ก็สามารถเพลิดเพลินกับคุณภาพเสียงระดับสตูดิโอได้แล้ว และปัจจุบันก็มี MQA-CD ออกมาเรื่อย ๆ อย่าง Close to You ของ Susan Wong หรือเพลงจีนอย่าง DR Classics หรือล่าสุดก็ผลงานของเฉินเจีย ในชุด “We meet again, Teresa Teng” (บ้านเราน่าจะรู้จักนักร้องคนนี้ดี เพราะผลงานชุดนี้ได้ออกมาหลายฟอร์แมตทั้งซีดีและไวนิล) และก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีค่าอื่น ๆ ทยอยออกแผ่น MQA-CD อย่างไม่ขาดสายแน่นอน และน่าจะได้รับการยอมรับจากคนเล่นเครื่องเสียงได้โดยไม่ยาก แต่ปัญหาที่น่าขบคิดคือ เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ต 5G อย่างแพร่หลายแล้ว และสมมติว่าถึงเวลานั้นคนส่วนใหญ่เลือกที่จะสตรีมเพลง High-Res แบบไม่บีบอัดโดยตรงเลย MQA-CD จะยังคงมีที่ว่างในหมู่พรีเมี่ยมซีดีอีกต่อไปหรือไม่

แต่ไม่ว่า MQA จะพัฒนาต่อไปในทิศทางไหนก็ตาม เชื่อว่าสิ่งที่คนเล่นเครื่องเสียงต้องการเป็นอย่างยิ่งคือ ฟีเจอร์ “รับรอง” ว่าเพลงที่กำลังฟังนั้นเป็นตัวมาสเตอร์จริง ๆ เพราะปัจจุบันนี้มีเพลงไฮเรสจำนวนไม่น้อยที่อ้างว่าเป็นตัวมาสเตอร์ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ไฟล์ DSD ที่บอกกันว่าปลอมไม่ได้ก็ยังมี (ลองหาโปรแกรมเก่ง ๆ แล้วเอาไฟล์ MP3 มาแปลงดูก็ได้) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรายากที่จะแยกแยะได้ว่าอันไหนแท้อันไหนปลอม ดังนั้น การรับรองแหล่งที่มาจึงมีความสำคัญมาก MQA เองมีการฝังรหัสเรื่องลิขสิทธิ์และลายเซ็นดิจิตอลไว้ในแผ่นอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าหาก MQA สามารถกลายเป็นฟอร์แมตมาตรฐานได้ ปัญหานี้น่าจะหมดไปได้ ซึ่งฟีเจอร์ตัวนี้สามารถระบุได้ว่าไฟล์ที่โอนให้กัน ก็อปปี้แลกเปลี่ยนนั้น ระหว่างทางถูกแก้ไขมาหรือไม่ แต่ในความสมบูรณ์ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ เพราะมันไม่สามารถระบุปัญหา ณ เวลาผลิตจากต้นทางได้

ดังนั้น ในความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า ในอนาคตเมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถรองรับการสตรีมไฟล์เพลงไฮเรสโดยไม่ต้องบีบอัด นักฟังเพลงส่วนใหญ่คงเลือกที่จะสตรีมโดยตรงและไม่จำเป็นต้องพึ่งพา MQA อีกต่อไป ส่วนนักฟังเพลงทั่วไปที่ยังนิยมฟังแบบออฟไลน์ก็น่าจะยึด MQA-CD เป็นตัวหลักเนื่องจากความสามารถเข้ากันได้กับเครื่องเล่น CD ทั่วไป และมันจะเข้าไปทดแทนแผ่นประเภท  SACD และ Blu-ray Pure Audio อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนฟีเจอร์การ “รับรอง” แหล่งที่มานั้น จะพัฒนาได้สมบูรณ์แค่ไหน เวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์

*ภาพจากอินเทอร์เน็ต