จีนยืนยันไม่ขอ “อยู่ร่วมโรค” ตามแนวทางตะวันตก
ในขณะที่ยังไม่ทันเข้าสู่ฤดูหนาว ประเทศตะวันตกหลายประเทศเริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนในอัตราที่สูงก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอย่างสายพันธุ์เดลต้า ทำให้อเมริกามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นแสนกว่ารายในแต่ละวัน

ในขณะเดียวกัน สื่อตะวันตกหลายสำนักและผู้เชี่ยวชาญบางคนเริ่มมีแนวคิดที่จะ“อยู่ร่วมโรค”กับโควิด นั่นคือ ใช้ชีวิตตามปกติโดยถือว่าโควิด-19 ก็เป็นเพียงไข้หวัดหรือโรคประจำถิ่นชนิดหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็แนะนำให้ผ่อนปรนนโยบาย “ผู้ติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์” โดยอ้างว่าเป็นนโยบายที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป พร้อมกับโน้นน้าวและรับประกันว่าหากผ่อนปรนและอยู่ร่วมโรค “จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด”
แนวคิดนี้ ได้มีนักวิชาการและนักธุรกิจจีนบางส่วนออกมาสอดรับ โดยพวกเขาเห็นว่า การล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขณะเดียวกัน สื่อตะวันตกก็นำเอาความเห็นของนักวิชาการเหล่านี้มาตีแผ่ขยายความ ดังที่ Bloomberg รายงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมว่า ถ้าหากจีนยังคงยึดนโยบาย“ผู้ติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์”ต่อไป จีนก็จะถูกสังคมโลกโดดเดี่ยว โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ว่า ประเทศเหล่านี้ก็เคยใช้นโยบาย“ผู้ติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์” แต่ขณะนี้ประเทศเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนยุทธศาสตร์การป้องกันการแพร่ระบาดของตนเองแล้ว
ต่อแนวคิดของสื่อตะวันตกนี้ กาวเฉียง (高强)อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขจีน และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของ China Health Economics Association ได้ให้ทัศนะไว้ใน People’s Daily ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ รวมทั้งประเทศอื่น ๆ นั้นเนื่องจากผ่อนคลายการควบคุมการระบาดจนเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก แทนที่จะมองที่ความบกพร่องในนโยบายควบคุมของตัวเอง แต่กลับไปโทษไวรัสกลายพันธุ์ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าประเทศจีนจะต้องยึดมั่นในการป้องกันอย่างเข้มงวดและเลิกล้มความคิดที่จะ“อยู่ร่วมโรค”ไปเลย

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสังคมโลกจะต้องเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่ปลอดภัย สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ไม่ใช่การปฏิสัมพันธ์แบบหลับหูหลับตา โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมา
ความจริงได้พิสูจน์แล้วว่า การผ่อนคลายหรือปลดล็อกอย่างหลับหูหลับตา การมุ่งหวังพึ่งวัคซีนอย่างเดียวเพื่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” และการ “อยู่ร่วมโรค” คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้โควิดกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ประเทศเหล่านี้ไม่ได้รับประโยชนาอันใดทั้งในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากการ “อยู่ร่วมโรค” เลย แต่กลับผลักดันให้จีน”อยู่ร่วมโรค” และยังเชื่อว่าพวกเขาสามารถรับมือกับการระบาดของโควิดได้อย่างมี่ประสิทธิภาพและเหนือกว่าจีน จน Bloomberg ทำการจัดอันดับให้สหรัฐฯเป็นประเทศที่รับมือกับโควิดเป็นอันดับ 1 ของโลกจนกลายเป็นเรื่องตลกของประชาคมโลก

คำพูดของประเทศตะวันตกกลับขัดแย้งกันเอง ด้านหนี่งบอกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ตามหลักแล้วควรจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม แต่กลับบอกว่าควรจะผ่อนคลายต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมโรค สำหรับจีนซึ่งเป็นประเทศที่แผ่นดินกว้างใหญ่ ประชากรหนาแน่น หาก”อยู่ร่วมโรค” ผลลัพธ์อันเลวร้ายที่จะตามมายากที่จะจินตนาการได้
ความเห็นของสื่อตะวันตกบางส่วนเห็นว่ามาตรการการรับมือกับโควิดที่เข้มงวดของจีนจะต้องแลกด้วย”ต้นทุน”ที่สูงมาก และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ของคนนับล้าน แม้หากคุณสามารถที่จะปิดเมืองได้ทั้งหมดก็ตาม ผู้คนยังคงต้องล้มตาย และคนอีกจำนวนมากจะต้องเสียชีวิตเพราะอดอยากหรือไร้งานทำ จึงเห็นว่า จีนควรจะเรียนรู้ที่จะ ”อยู่ร่วมโรค” ให้ได้

ในแง่ของประเทศจีนนั้น ปีที่แล้วใช้เวลาเพียงแค่สองเดือนกว่าก็สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้อย่างเบ็ดเสร็จ และเป็นประเทศแรก ๆ ที่ฟื้นฟูกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับสู่ปรกติและปีที่แล้วเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก แม้ปัจจุบันจะยังพบการระบาดในบางพื้นที่ในบางช่วงเวลา จีนก็ยังคงใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดพร้อม ๆ กับเร่งระดมฉีดวัคซีนและจนถึงขณะนี้ได้ฉีดไปแล้ว 1700 ล้านโดสทั่วประเทศ
ดังนั้น ความเห็นของสื่อตะวันตกที่ให้”อยู่ร่วมโรค” จึงขาดน้ำหนักและขาดแรงโน้มน้าว เพราะมันเหมือนกับนักเรียนสอบตกมาแนะนำนักเรียนที่เรียนเก่งให้นำวิธีการเรียนของตนมาใช้อย่างไรอย่างนั้น นี่ไม่ใช่ความหวังดีต่อจีน หากแต่มีวาระซ่อนเร้น