เกิดอะไรขึ้นกับ “จ้าวเหว่ย” และวงการบันเทิงจีน
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วงการบันเทิงจีนเกิดคลื่นระลอกแล้วระลอกเก่า ดาวที่เคยเจิดจรัสในวงการต้องดับสูญลงทีละดวง นับจากอู๋ยี่ฝาน (吴亦凡)หรือ Kris Wu ดาราจีนสัญชาติแคนาดาที่ถูกจับในคดีข่มขืน เจิ้งส่วง (郑爽)ที่ผิดซ้ำผิดซาก ความวัวเรื่องจ้างตั้งครรภ์แทนยังไม่ทันหาย ความควายเรื่องหลบเลี่ยงภาษีก็เข้ามา เลยโดนซิวไปอีก 299 ล้านหยวน นั่นยังพอเข้าใจได้ แต่กับ “องค์หญิงกำมะลอ” หรือฉายาล่าสุดว่า “บัฟเฟตต์สาว” ที่ไม่เคยมีข่าวทางลบทางสื่อเลย อยู่ ๆ ก็ถูก”ปิดล้อม”ทุกทาง เพราะผลงานของเธอถูกถอดออกจากทุกแพลตฟอร์มดัง ไม่ว่าจะเป็น Tencent, iQiyi เป็นต้น และชื่อของเธอก็หายไปจากเสิร์ชเอนจิ้น ทำให้ผู้คนต่างงงไปตาม ๆ กันว่าเกิดอะไรขึ้นและก็คาดเดากันไปต่างๆนานา และคนแรกที่คิดถึงคือ “Jack Ma” มันจะต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าสัวหม่าแน่…
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และสาเหตุความเป็นไปได้มีมากมาย เพราะเธอไม่ใช่เป็นเพียงแค่ดาราดังเท่านั้น แต่เธอยังเป็นนักลงทุน มีสามีมหาเศรษฐีหวงโหยว่หลง (黄有龙)คนอู่ฮั่นแต่ถือสัญชาติสิงคโปร์ การเดินแบบในชุดเดรสที่พิมพ์ลายธงญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับแก๊งต้มตุ๋นและธุรกิจสีเทา ฯลฯ
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับจ้าวเหว่ย ย่อมไม่ใช้ปัญหาเพียงความเป็นดาราของเธออย่างแน่นอน หากมองย้อนไปเมื่อเร็วๆนี้ เรื่องการตรวจสอบ Ant Group และ Alibaba เป็นต้น ล้วนแต่มีส่วนเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ทางรัฐบาลจีนออกกฎหมายต้านการผูกขาด ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในอินเทอร์เน็ต และกลุ่มทุนที่ได้รับผลกระทบก็อาศัยอำนาจเงินที่ตนมีอยู่ทำการขยายความขัดแย้ง สร้างความสับสนและใช้เป็นช่องทางโจมตีรัฐบาล
แต่สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ไม่สามารถหยุดยั้งรัฐบาลได้ หากแต่นับตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2021 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนกลับเข้าเกียร์เร่งออกกฎหมายในด้านอื่น ๆ ออกมาเป็นซีรีส์ ทั้งด้านการศึกษาที่ต้องให้สถานบันกวดวิชาจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีบ้านของตัวเองได้ จัดการวงการบันเทิงไม่ให้ศิลปินมีอิทธิพลต่อเยาวชนมากเกินไป และ ฯลฯ
กล่าวได้ว่า แต่ละมาตรการที่ออกมานั้น ทางรัฐบาลได้พิจารณาไตร่ตรองมานานแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงคราวต้องดำเนินมาตรการ จึงต้องเริ่มลงดาบจากบางองค์กร บางบุคคลก่อน และแน่นอนว่ามันจะต้องส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จนเกิดการตื่นตระหนกและโกลาหล
ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพื่อเอาชนะอิทธิพลที่มองไม่เห็น เพื่อให้ประเทศชาติสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง การลงดาบครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่น่าจะนำไปสู่วงกว้างคือ ความขัดแย้งด้านความคิดเห็นกับชาวเน็ตจีน คือ เมื่อจ้าวเหว่ยสมคบกับกลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชไต้หวันทำให้ชาวเน็ตไม่พอใจและเรียกร้องให้แบนผลงานของจ้าวเหว่ย เลยถูกจ้าวเหว่ยฟ้องร้อง จากนั้นชาวเน็ตก็ขุดคุ้ยเรื่องในเชิงลบของจ้าวเหว่ยออกมาตีแผ่ในเน็ต ก็ถูกจ้าวเหว่ยใช้อำนาจเงินสั่งแพลตฟอร์มทั้งหลายลบโพสต์ทั้งหมด ทำให้ชาวเน็ตเริ่มตระหนักดีว่า เสียงของพวกเขาไม่อาจสู้กับอำนาจเงินได้ ชาวเน็ตก็หันไปโพสต์ในแพลตฟอร์มที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุนอย่าง People’s Daily, Global Times เป็นต้น
เมื่อเจอไม้นี้เข้า จ้าวเหว่ยไม่สามารถที่จะเข้าควบคุมได้ จึงให้ทีมงานทำการตอบโต้ในสื่อต่าง ๆ ด้วยการใช้ปฏิบัติการ IO โดยเผยแพร่ข่าวในเชิงบวกเพื่อกลบข่าวเชิงลบ แต่ชาวเน็ตยังคงไม่ยอมแพ้ ได้ขุดคุ้ยเอาเรื่องกองทุนต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง เช่น One Foundation ของ Alibaba แต่โพสต์เหล่านี้ก็ถูกลบทิ้งอย่างรวดเร็วและคนที่นำเรื่องนี้มาโพสต์ก็ถูกปิดปากโดยถูกปิดบัญชี ส่วนแพลตฟอร์มต่างๆ ตลอดจนสื่อต่างก็ปิดปากเงียบ แม้แต่ในไบ๋ตู้ก็เสิร์ชหาไม่เจอเกี่ยวกับเรื่องนี้
ชาวเน็ตเริ่มตื่นตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นของพวกเขาถูกกลุ่มทุนควบคุมอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เผยแพร่ในเน็ตคือสิ่งที่กลุ่มทุนต้องการที่จะให้คุณรู้ แต่ถ้าเขาไม่อยากให้คุณโพสต์คุณไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะผายลม ดังนั้น เรื่องที่คิดจะขอความช่วยเหลือจากสื่อนั้น เลิกคิดไปได้เลย
ทีนี้ คณะกรรมการกลางสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้ออกมาโพสต์ใน Weibo ว่า “ถ้าสื่อถูกควบคุมโดยอำนาจจากภายนอกแล้ว ก็ถือเป็นลางสังหรณ์สู่การสิ้นชาติ” แต่ในที่สุด Weibo ก็ทานอำนาจทุนไม่ไหว ก็ทำการลบโพสต์ของคณะกรรมการกลางสันนิบาตฯซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับชาวเน็ตเพราะไม่คิดว่าโพสต์ของคณะกรรมการกลางสันนิบาตฯยังถูกลบ เพราะพวกเขาเข้าใจมาโดยตลอดว่า การแสดงความคิดเห็นของพวกเขาจะถูกสอดส่องโดยคณะกรรมการกลางฯ ที่แท้ถูกกลุ่มทุนควบคุมมานานแล้ว
จากนั้น สื่อภายใต้ร่มเงาของ Alibaba ได้ออกบทความเรื่อง “คนที่ถูกลัทธิคลั่งชาติ’จับเป็นตัวประกัน’ไม่ได้มีแค่จ้าวเหว่ย” โดยเจตนาที่จะบิดเบือนกรณีของจ้าวเหว่ยว่าเป็นเพราะกลุ่มชาวเน็ตฮาร์ดคอร์ที่อ้างความรักชาติมาเล่นงานดารา จากนั้น บรรดาเน็ตไอดอล คนเด่นคนดังต่างพาเหรดออกมาร้องประสานเสียงตั้งข้อหาชาวเน็ตที่ออกมาแฉว่า เป็นพวก “ก่อกวน” เป็นพวก “เรดการ์ด (พวกเยาวชนสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ใช้อำนาจศาลเตี้ยพิพากษาฝ่ายตรงข้าม)”
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องการเมืองว่าด้วยเอกราชของไต้หวันหรือความรักชาติเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่จ้าวเหว่ยกับกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังใช้อำนาจเงินในการปิดปากชาวบ้านไม่ให้มีปากมีเสียง เป็นการประลองกำลังระหว่างอำนาจทุนกับพลังประชาชน ในที่สุดการควบคุมความคิดเห็นของกลุ่มทุนก็ต้องประสบความปราชัย